self care activities : ดูแลตัวเอง ดูแลใจ
Self-care: Live life, be happy. But first, take care of yourself.
เรามาเรียนรู้วิธีการดูแลตนเอง ที่จะช่วยผ่อนคลายอารมณ์ ช่วย recharge พลังงาน รวมถึงการพัฒนาสุขภาพกายและใจของเราไปพร้อมกัน
การเรียนในระดับมหาวิทยาลัยต้องอาศัยความรับผิดชอบสูงมากขึ้นเนื่องจากภาระหน้าที่ด้านการเรียน อีกทั้งความเครียดจากการอาศัยอยู่ร่วมกับผู้อื่น เต็มไปด้วยความคาดหวัง การเปลี่ยนแปลง และการเติบโต บางเวลาเราอาจรู้สึกหลงทางอยู่ในวังวนของการเรียน การทำงาน สิ่งที่ต้องรับผิดชอบ และภาระอะไรอีกมากมาย บางทีชีวิตมันก็ยากและไม่เป็นไปตามความต้องการ บ่อยครั้งที่สิ่งเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกอ่อนล้าและแรงจูงใจลดลงจนเกือบจะยอมแพ้ แต่รู้ไหมว่าไม่ใช่เราเพียงคนเดียวที่กำลังเผชิญกับความยากลำบากนี้อยู่ และไม่เป็นอะไรเลยหากเรากำลังรู้สึกแบบนั้น แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ควรละเลยการดูแลตัวเอง เพราะความสัมพันธ์ระหว่างเราและตัวของเรานั้นเป็นความสัมพันธ์ที่สำคัญมากที่สุด งั้นเรามาให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์นี้ให้เท่ากับความสัมพันธ์ที่เราพยายามมีกับคนอื่น
แล้วเราใช้เวลาเพื่อการดูแลตัวเองครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่กันนะ? หากใครแทบจะลืมนึกถึงตัวเองไปแล้ว อยากบอกว่าการดูแลตนเองมีหลากหลายรูปแบบ และการแบ่งเวลามาทำกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยพักเพื่อฟื้นฟูตัวเอง อนุญาตให้เราได้ใช้เวลากับตัวเอง... ให้เวลาตนเองในการดูแลตนเองอย่างแท้จริง
ตัวอย่างกิจกรรมดูแลตัวเอง มีดังนี้
-การนอนตามเวลาเป็นกิจกรรมที่ควรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในนักศึกษามหาวิทยาลัยที่เรียนและใช้เวลาช่วงกลางวันอย่างหนักแล้ว ก็ควรใช้เวลาช่วงกลางคืนพักผ่อนอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยฟื้นฟูพลังงานและพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตในวันต่อไป
-นอกจากนี้นอนตามเวลาแล้ว การนอนหลับช่วงสั้นๆ (nap time) ก็ช่วยทำให้สดชื่นขึ้นระหว่างวัน แต่ไม่ควรนอนหลับนานเกิน
-จัดเวลาให้กับสิ่งที่สนใจและงานอดิเรก เช่น อ่านหนังสือ เขียนนิยาย เรียนภาษา ฟังเพลง วาดรูป หรือทำกิจกรรมสร้างสรรค์ชนิดอื่น การทำงานอดิเรกที่ชอบจะช่วยผ่อนคลายความเครียดและเพิ่มความสุข นับเป็นการสร้างสมดุลอารมณ์อีกรูปแบบหนึ่ง
-ออกไปเที่ยว หรือ ใช้เวลากับเพื่อน หรือครอบครัว ช่วยให้กลับมาเชื่อมโยงกับคนที่เรารัก และช่วยเพิ่มความสุข
-พักจาก social media เพื่อพักจากช่วงเวลาที่เร่งด่วนฉับพลันและทำให้ความรู้สึกแย่ลงได้ง่าย การหยุดพักจากหน้าจอ ยังช่วยให้สมองได้พัก เพื่อพร้อมทำงานและใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มศักยภาพ
-ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อผ่อนคลายความเครียด ทำให้อารมณ์ดีขึ้นและช่วยให้นอนหลับดี หากมีเวลาน้อยเราสามารถเดินไปเรียนหรือเดินไปทานข้าวแทนการนั่งรถก็ได้
-เดินเล่นในสวน ใช้เวลาท่ามกลางธรรมชาติ ลองใช้เวลาสังเกตสีเขียว ท้องฟ้าและสิ่งมีชีวิตต่างๆ รอบตัวๆ
-ฝึกโยคะ หากไม่อยากออกกำลังหนักๆ ลองฝึกโยะคะเบาๆ
-ฝึกหายใจเข้าออกลึกๆ เริ่มฝึกสัก 5 นาที จากนั้นค่อยๆ เพิ่มเวลาให้นานขึ้น ลองเรียนรู้เพิ่มเติมจากบทความนี้ เทคนิคการผ่อนคลาย
-ฝึกสติ (mindfulness) หรือฝึกสมาธิ(meditation) ไม่ใช่เรื่องของศาสนา แต่เป็นการฝึกอยู่กับปัจจุบันขณะ เพื่อเราจะสามารถวางความเครียด สิ่งรบกวนใจ ความคิดวนเวียน ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ
-ฝึกแสดงความรักและเมตตากรุณาต่อตนเอง ปฏิบัติต่อตนเองเหมือนที่อยากปฏิบัติต่อเพื่อนที่ดีที่สุดของเรา พูดคุยกับตัวเองในแบบที่อยากพูดคุยกับคนที่คุณห่วงใย หลีกเลี่ยงการตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง
-จดบันทึก เพื่อเขียนบอกเล่าเรื่องราวหรือประสบการณ์ การทำแบบนี้ยังช่วยประมวลความคิด บันทึกความรู้สึก และช่วยให้เราอยู่กับปัจจุบัน
-ในแต่ละวันลองเขียนสิ่งที่อยากขอบคุณในวันนี้ 3 ข้อ (gratitude journal) งานวิจัยด้าน neuroscience พบว่าการมีความรู้สึกขอบคุณต่อสิ่งต่างๆทำให้สมองส่วนที่สัมพันธ์กับความสุขทำงานมากขึ้น เราสามารถฝึกขอบคุณได้ทุกวัน อาจเป็นการขอบคุณตัวเราเอง ขอบคุณประสบการณ์ หรือขอบคุณผู้คนในชีวิตก็ได้ อ่านเพิ่มเติม https://positivepsychology.com/gratitude-journal/ , https://www.health.harvard.edu/healthbeat/giving-thanks-can-make-you-happier
ภาพจาก : Mindventure
ลองสังเกตว่าวิธีใดเหมาะกับเราที่สุด แม้จะเรียนหนักและรู้สึกไม่มีเวลาเลย แต่อยากให้พยายามแทรกกิจกรรมนี้ในชีวิตวันละนิด เพราะเหล่านี้คือทักษะที่เราจะค่อยๆบ่มเพาะ ความสามารถในการดูแลและจัดสมดุลให้ชีวิตการเป็นแพทย์ของเรา