time management : จัดการเวลาดี ชีวิตเปลี่ยน
Time Management
เทคนิคการจัดการเวลาอย่างมีประสิทธิภาพมีความสำคัญและจำเป็น มีประโยชน์มากที่จะช่วยเราในการวางแผนการจัดการชีวิต ทำให้เรามีหลักยึดว่าต้องทำอะไรเมื่อไหร่ ต้องทำให้เสร็จตอนไหน ต้องส่งงานวันไหน เมื่อเราพอจะทราบกรอบเวลาคร่าวๆ จึงทำให้เรามุ่งทำงานหรืออ่านหนังสือได้โดยมีจุดมุ่งหมายชัดเจน ทำทุกอย่างเต็มประสิทธิภาพ แม้งานที่กองอยู่ตรงหน้าจะชวนให้ใจยุ่งเหยิงแค่ไหนแต่ก็ทำให้เสร็จได้ตามเวลา ทั้งยังบรรเทาความเครียดและความกังวลระหว่างนั้น หากเราเรียนรู้และเริ่มฝึกใช้วิธีการเหล่านี้ตั้งแต่วันนี้ เชื่อได้ว่าจะชินและได้ใช้ทักษะไปจนตลอดชีวิตการเรียนและการทำงานแน่นอน
ขั้นตอนของการเริ่มบริการจัดการเวลา เริ่มได้ดังนี้
1. การประเมินว่าเรากำลังอยู่ในสถานการณ์แบบไหนในปัจจุบัน
การวางแผนล่วงหน้าอาจเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายคน แต่อยากชวนให้ลองใช้เวลาสักครู่เพื่อประเมินว่าเราใช้เวลาที่มีอย่างจำกัดอย่างไรบ้าง โดยลองเขียนแผนลงไปว่าสัปดาห์หน้าเราต้องทำอะไรบ้าง และต้องเขียนช่วงเวลาพักผ่อนลงไปด้วย เช่น ไปเดินเล่นกับเพื่อน รับประทานอาหาร รวมถึงเวลานอนหลับ เพื่อให้เราได้จัดสรรเวลาของเราได้อย่างสมดุล
2. จัดจัดเรียงความสำคัญ (Prioritize)
พอเขียนเสร็จแล้ว ตอนนี้คุณอาจรู้สึกมึนตึ๊บเพราะปริมาณงานและภาระต่างๆ แต่ใจเย็นๆ ลองมาพิจารณาดูว่าสิ่งใดที่มีความจำเป็นต้องทำให้เสร็จโดยเร่งด่วนที่สุด ค่อยๆ เขียนตัวเลขกำกับเอาไว้ทีละงาน เมื่อทำแบบนี้จนเสร็จ แม้งานจะเยอะ แต่เรารู้แล้วว่าเราต้องมุ่งความสนใจไปที่งานไหนก่อน เมื่อทำเสร็จแล้ว ก็ค่อยทำงานอันดับรองลงมาต่อไปเรื่อยๆ การสะสางงานของเราก็ดูมีทิศทางมากขึ้น ที่สำคัญ ความรู้สึกเครียดหรือความกังวลที่เคยมีปริมาณมากก็ผ่อนคลายลงไปด้วย
แบบฝึกหัด 1 Prioritize your to do list
เพื่อช่วยให้ตัดสินใจง่ายขึ้นว่างานใดจำเป็นเร่งด่วนหรือต้องทำก่อน จึงขอให้ list งานลงไปในตารางต่อไปนี้เพื่อแยกย่อยว่ารายการใดเป็นเรื่องเร่งด่วน หรือ สำคัญ หรืออาจจะเป็นรายการที่ทั้งเร่งด่วนและสำคัญก็ได้ เพราะวัตถุประสงค์ของการจัดเรียงลำดับความสำคัญก็เพื่อกำหนดเป้าหมายและลงมือทำเพื่อลดจำนวนงานที่มี แต่แบบไหนที่เรียกว่าจำเป็นหรือสำคัญกันนะ?
- คุณคือคนเดียวที่ทำได้
- เวลาส่งเร็วที่สุด
- การทำสำเร็จจะทำให้สามารถทำอย่างอื่นต่อได้
ลองมาเขียนรายการที่ต้องทำลงบนตารางนี้เพื่อจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำโดยใช้ Eisenhower matrix กัน โดยแบ่งงานเป็น 4 ช่องตามรูป คือ
สำคัญ (important)
ไม่สำคัญ (Unimportant)
เร่งด่วน (urgent)
ไม่เร่งด่วน (not urgent)
หลังจากนั้นเราจะได้ตัดสินใจขั้นต่อไป
ถ้างานนั้นตกอยู่ในช่อง 1 - จงทำเดี๋ยวนี้!!
ช่อง 2 - จัดตารางหาเวลาทำงานนี้
ช่อง 3 - อาจจะแบ่งให้คนอื่นช่วยทำ
ช่อง 4 - คงต้องคิดทบทวนอีกทีว่า เราต้องทำงานนีเไหมนะ
3. จับรายการต่างๆ ใส่ลงไปในตารางเวลา (Scheduling your time)
ในเมื่อเราได้จัดความสำคัญของงานเรียบร้อยแล้ว ต่อไปก็จะจัดแจงนำเอารายการทั้งหมดไปใส่ไว้ในตารางเวลา ซึ่งนอกจากงานแล้วในตารางนี้อาจวางแผนรายการอื่นๆ ที่ต้องการทำในชีวิตประจำวันได้เหมือนกัน เช่น ธุระเร่งด่วนที่แทรกเข้ามา เช่น อาจารย์นัดคุยเรื่องวิจัยบ่ายวันพรุ่งนี้ รวมถึงเรื่องที่ไม่อาจจัดไว้ภายใต้หมวดใดหมวดหนึ่งได้ เช่น วันสุดท้ายของการเก็บคะแนนในเกมเพิ่มระดับภาษา
การจัดตารางเวลาจะทำให้เห็นเป้าหมายและลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เมื่อรับผิดชอบภาระหน้าที่ใดแล้วก็ต้องตัดรายการที่ทำสำเร็จออกไปด้วย ซึ่งเมื่อเราทำตามแผนได้จริงก็จะช่วยให้มุ่งมั่นตั้งใจและทำงานให้สำเร็จภายในเวลาที่เหมาะสม... มันน่าจะรู้สึกดีมากนะเวลาที่ได้ขีดงานออกไปทีละงาน แล้วเห็นเวลาว่างของเราค่อยๆ กลับมา
ตัวอย่างตารางเวลา
แบบฝึกหัด 2 Scheduling your time
เมื่อได้ตารางแบบนี้ เราจะเริ่มต้นด้วยการเติมงานหรือรายการที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ลงไป เช่น ตารางเรียน ตารางขึ้นเวร ซึ่งมีความเฉพาะเจาะจงมีเวลาแน่นอน ต่อมาค่อนเริ่มดูจากช่องที่ว่างอยู่แล้วจับเอาสิ่งที่ต้องทำโดยเรียงตามลำดับความเร่งด่วนและมีความสำคัญใส่ลงไป หากเป็นไปได้ควรเหลือช่องว่างไว้บ้าง เผื่องานแทรกที่ไม่ได้อยู่ในแผนปัจจุบัน หรือหากโชคดีมันอาจจะว่างอยู่แบบนั้นต่อไปก็ไม่เป็นไร
4. Maximize your plan
บางครั้งเมื่อเราลองทำตามขั้นตอนก่อนหน้าแล้ว อาจพบปัญหาจากการใช้งาน โดยเฉพาะการตัดสินใจเลือก หากมีสิ่งที่ต้องทำในรูปแบบที่ไม่ทันได้ตั้งตัว หรืออาจมีบางรายการที่ดูขัดแย้งกัน แล้วจะจับมันใส่ลงไปตรงไหนดี ดังนั้นจึงอยากให้ลองตอบคำถามเหล่านี้ดูเพื่อประกอบการตัดสินใจ
- เวลาที่วางไว้เหมาะสมหรือไม่ มีงานแบบไหนไหมที่เราทำได้ดีกว่าในบางช่วงเวลา (เช่น บางคนชอบอ่านหนังสือช่วงดึก บางคนชอบอ่านหนังสือช่วงเช้าหลังตื่นนอน)
- ลองมองหลายมุม ลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า การตัดสินใจของเราจะส่งผลต่อตัวเองอย่างไรในอีก 5 ชั่วโมง 5 วัน 5 เดือน เป็นต้น
แต่บางครั้งการตัดสินใจเลือกบางอย่างก็ยากลำบากจริงๆ จึงอยากให้ลองใช้เครื่องมืออีกชิ้นประกอบการตัดสินใจ คือ cost - benefit เช่น
5. รับผิดชอบต่อตารางเวลา
แม้จะวางแผนเอาไว้แล้วแต่สำหรับบางคนก็ยังยากที่จะมุ่งหน้าทำตามแผนในตารางเวลา หรือไม่เคยทำตามแผนได้สำเร็จ อาจขาดความรับผิดชอบที่เพียงพอ หรืออาจเพราะใจอ่อนยอมตามใจตัวเอง หรือตามใจเพื่อนมากเกินไป จนรบกวนเวลาการทำงานให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ฉะนั้น สูดหายใจเข้า ให้กำลังใจตัวเอง อย่างน้อยถ้าหลุดจากสิ่งที่ต้องทำแล้วและรู้ตัวก็ให้เปลี่ยนความสนใจกลับมารับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองก่อนเสมอ
6. พร้อมปรับตัวเสมอ
ตามที่กล่าวไปว่าสำหรับบางคนมันช่างยากลำบากเหลือเกินที่ต้องคอยบังคับตัวเองให้ทำตามตารางเวลา และไม่ว่าจะเราจะทุ่มเทรับผิดชอบงานตามตารางแค่ไหน แต่สุดท้ายแล้วเราอาจจะพลาดบางอย่างไปได้เพราะการแทรกเข้ามาของเหตุการณ์ที่ไม่ได้กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม เราควรพร้อมรับมือกับสถานการณ์แบบนี้เสมอ ต้องยืดหยุ่นและปรับตัว ไม่ยึดติดกับตารางจนไม่มีความสุข
Powered by Froala Editor